การทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศโดยทั่วไปต้องอาศัยสารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ที่ไหลอยู่ในระบบท่อปิด โดยมีอุปกรณ์อย่างง่าย ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. คอมเพรสเซอร์ (Compressor) – เป็นอุปกรณ์ที่เพิ่มความดันและอุณหภูมิแก่สารทำความเย็น เปรียบเสมือนหัวใจของร่างกายคนเรา

2. คอนเดนเซอร์ (Condenser) – เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แลกเปลี่ยนความร้อนของสารทำความเย็นและอากาศภายนอก

3. วาล์วลดความดัน (Expansion Valve) – เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ลดความดันฉับพลันเพื่อให้สารทำความเย็นขยายตัว

4. อีวาโปเรเตอร์ (Evaporator) – เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แลกเปลี่ยนความร้อนของสารทำความเย็นและอากาศภายในบริเวณที่ต้องการทำความเย็น

หลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศ

เริ่มต้นจากคอมเพรสเซอร์ซึ่งทำหน้าที่เพิ่มความดันให้แก่น้ำยาซึ่งเป็นแก็ส ให้มีความ ดันและอุณหภูมิสูงขึ้น (สูงกว่าอากาศภายนอก) แล้วระบายทิ้งที่แผงท่อระบายความร้อน (คอยล์ร้อนหรือคอนเดนเซอร์) ซึ่งติดตั้งอยู่ภายนอกห้อง โดยมีพัดลมทำหน้าที่เป่าระบายความร้อนที่แผงระบายความร้อนนี้

น้ำยาภายหลังผ่านคอล์ยร้อนจะมีสถานะเป็นของเหลว มีความดันสูง จะไหลผ่านเข้า ชุดลดความดัน (Expansion Valve) ก่อนจะไหลเข้าไปยังแผงท่อทำความเย็น (คอยล์เย็นหรือแฟนคอยล์) ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในห้อง สารทำความเย็นจะดูดความร้อนจากอากาศบริเวณโดยรอบของแผงท่อทำความเย็น ทำให้อากาศที่ไหลผ่านมีอุณหภูมิต่ำลง และถูกส่งผ่านลมเย็นโดยพัดลมที่ติดตั้งอยู่ที่แผงทำความเย็นนี้ ไปสู่บริเวณห้องเพื่อให้ได้อุณหภูมิตามต้องการ สารทำความเย็นภายหลังผ่านทางแผงคอยล์ทำความเย็นแล้ว จะมีสถานะเป็นแก็สความดันต่ำ ก่อนจะไหลเข้าสู่เครื่องอัดไอน้ำยา โดยจะทำงานเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ

ถ้าพูดกันง่ายๆ การทำงานของวัฏจักรการทำความเย็น พอจะสรุปได้ดังนี้ค่ะ

สารทำความเย็นหรือน้ำยาแอร์ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางดูดซับเอาความร้อนภายในห้อง (Indoor) ออกมาภายนอกห้อง (Outdoor) จากนั้นน้ำยาก็จะถูกลดอุณหภูมิทำให้เย็นอีกครั้ง แล้วจะถูกส่งกลับเข้ามาภายในห้องเพื่อดูดซับความร้อนอีกรอบ โดยกระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดการทำงานของคอมเพรสเซอร์ค่ะ